Saturday, July 28, 2007

เขาว่าผม แยกเสียงเป็น


สวัสดีครับ กลับมาอีกแล้ว สังสัยเดือนนี้จะมีบทความได้ตามเป้าแฮะ เพราะเดือนนี้วัตถุดิบเยอะเลย มีอีกหลายเรื่องที่ต้องเขียนอีกเพียบเลย เพราะมีพี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยกันถามเข้ามาเยอะครับ ทั้งจาก MSN ทางหน้าร้าน และคำถามเมื่อชาติที่แล้วที่นึกขึ้นได้ก็มีครับ ผมก็จะพยามจะเขียนออกมาให้พี่ ๆ น้อง ๆ ได้อ่านกันอย่างต่อเนื่องครับ

ครับ บทความนี้ผมจั่วหัวไว้ว่า "เขาว่าผม แยกเสียงเป็น" บทความนี้ต้องขอบคุณ note_za ครับ ที่คนจุดประกายให้ผมเขียนเรื่องนี้ครับ เพราะจำได้ว่าเราคุยกันเรื่องของหูฟังมั้งครับ แล้วเราก็พูดเรื่องเสียงของหูฟังที่ต่างกันออกไป มีบุคลิกของแต่ละตัว ไม่เหมือนกัน คุณ note_za ก็ถามผมว่า แยกเสียงต้องทำอย่างไร ซึ่งที่เล่ามาก็เป็นสาเหตุที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาครับ

เรื่องการแยกเสียงนั้น จริง ๆ ไม่ยากครับ ง่ายมาก ๆ แค่หูไม่หนวกก็สามารถฟังแบบแยกแยะเสียงได้แล้วครับ เพียงแต่เราต้องมีพื้นฐานความรู้นิดหน่อยครับ ส่วนเรื่องทักษะนั้น จะเก่งมาก เก่งน้อย หรือเป็นพวกหูทอง หูเทพ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การฟัง และการฝึกทักษาครัับ ซึ่งแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน


อย่างแรกเราต้องมาทำความเข้าใจธรรมชาติการได้ยินของหูของเราและการกำเนิดของเสียงกันก่อนครับ (อันนี้ออกแนววิทยาศาสตร์ จริง ๆ ผมไม่ค่อยอยากพูดเรื่องในแนวนี้มากนัก เพราะหน้าไม่ให้ ออกดูโง่ ๆ ด้วยซ้ำไป แต่มันจำเป็นต่อการทำความเข้าใจครับ) ขอเริ่มจากการกำเนิดเสียงเรื่อยไปจนเสียงเข้าไปในหูของเราและเกิดการรับรู้เลยนะครับ


เสียงนั้น เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุจนทำให้เกิดคลื่นขึ้น ซึ่งคลื่นแต่ละคลื่นนั้นมีความถี่ต่าง ๆ กันไป และมีบุคลิกเสียงต่าง ๆ กันตามแต่วัตถุที่กระทบกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเอาไม้กลองไปตีที่กลอง เจ้ากลองตัวนั้นก็จะเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดคลื่นเสียงขึ้น ซึ่งจะเป็นเสียงอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความแรงของการตี ซึ่งจะทำให้เกิดความถี่ที่ต่าง ๆ กันออกไป แต่บุคลิกเสียงนั้นก็ยังเป็นเสียงไม้ตีที่กระทบโดนหนังของกลองอยู่ ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่เราเคยตีกลอง หากตีเบา เสียงก็แบบหนึ่ง ตีแรงเสียงก็อีกแบบหนึ่ง แต่ยังเป็นเสียงกลองตัวเดิมอยู่

จากนั้นคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นจากแหลงกำเนิด ก็แพร่กระจายออกไป (แต่ในที่นี้จะไม่ขอพูดถึงรูปแบบการกระจายว่ามีกี่ประเภท อย่างไร) จนถึงหูเรา ซึ่งหากเราอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดเสียงมาก เสียงที่มาถึงเราก็จะเบาลงเรื่อย ๆ ตามระยะทาง ยกตัวอย่างเช่น หากเรายืนไกล้กลองตัวเดิม เสียงก็จะดัง แต่หากอยู่ไกลออกมาก็จะเบาลงเรื่อย ๆ จนไม่ได้ยินในที่สุด


และเมื่อเสียงนั้นเดินทางมาถึงหูของเรา มันก็จะผ่านมาในอวัยวะรับเสียงของเรา แล้วอวัยวะเหล่านั้นก็จะทำการแปลงคลื่นเสียงไปเป็นสัญญาณในรูปของสัญญาณที่สมองจะรับได้ แล้วสมองของเราก็จะนำสัญญาณที่ได้นั้นไปเที่ยบกับความทรงจำเดิมของเราเพี่อเทียบเคียงและตีความหมายในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากเสียงกลองนั้นเดินทางมาเรื่อย ๆ นั่น มันก็เป็นแค่คลื่นเสียง แต่เมื่อเรารับเอาคลื่นนั้นเข้าไป แล้วไปเทียบกับความทรงจำก็จะได้คำตอบว่าเป็นเสียงกลอง ซึ่งในความจำเราก็จะแบ่งออกเป็นว่าเสียงกลองนี้นั้นเป็นกลองชนิดใหน และยังสามารถระบุตำแหน่งได้อีกด้วยว่าดังมาจากทิศทางใหนและในระดับความสูงใด (จะไม่ขอพูดเรื่องการระบุตำแหน่งว่าทำได้อย่างไรในบทความนี้) และมีปฏิกริยาตอบสนองต่อเสียงได้ที่ได้ยิน (จะไม่กล่าวถึงเช่นกัน หากอยากรู้ถามต่อหลังไมค์ได้ครับ ยินดีแชร์กันครับ)

เมื่อเราได้รู้ว่า Process แล้วว่าการได้ยินของเรานั้น มีขั้นตอนอย่างไร ต่อไปเราก็มาทำความเข้าใจถึงย่านความถี่ที่มนุษย์ได้ยินกันครับ


ย่านความถี่ที่มนุษย์ได้ยินนั้นก็ตั้งแต่ 20-20KHz ครับ (แต่อันนี้นั้นป็นแบบที่นิยมเรียกให้จำง่าย ๆ ครับ แต่จริง ๆ แล้วเป็น 16-18KHz ครับ) ซึ่งเราก็จะแยกความถี่เสียงออกเป็นย่านต่าง ๆ ดังนี้

เริ่มจากย่านความถี่ต่ำ ก็ไล่ตั้งแต่ 20Hz ไปจนถึง 250Hz ซึ่งย่านนี้เรานิยมเรียกกันว่าเสียง Bass ครับซึ่งเครื่องดนตรีที่ทำงานได้ดีในย่านความถี่นี้ เราก็มักจะเรียกว่า Bass เช่นกัน เช่น Guitars Bass, Double Bass, Drums Bass เป็นต้น เสียงที่เราได้ยินก็จะทุ้ม ๆ หรือเสียงที่ได้ยินใน ธรรมชาติก็เช่น เสียงปืนใหญ่ เสียงฟ้าร้อง เสียงระเบิด หรือเสียงก้นกางเกงเวลาโดนอาจารย์ตีตอนเด็ก ๆ ดังบุุก ๆ อะไรอย่างนั้น

ต่อมาเป็นย่านความถี่กลาง ก็ไล่ตั้งแต่ 251Hz ไปจนถึง 1,000Hz ย่านนี้เรานิยมเรียกว่า Mid หรือ เสียงกลาง ก็จำพวกเสียงร้องเพลงเป็นต้น

และสุดท้ายครับ เป็นย่านความถี่สูง ก็ไล่ตั้งแต่ 1,001Hz ไปเรื่อย ๆ ครับ ย่านนี้นิยมเรียกว่า Treble ครับ ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่สูง เสียงจะออกไปทางแหลม ๆ ครับ เครื่องดนตรี ไม่ต้องบอกก็คงนึกออกเพราะเยอะครับ Guitar, Violin เป็นต้น ครับ

คงพอจะเข้าในเรื่องของย่านความถี่และการแยกย่านความถี่ของเสียงกันแล้วนะครับ ซึ่งเมื่อเราแยกได้แล้วนั้น เราก็จะจับความแตกต่างของของความสามารถในการตอบสนองความพี่ของเครื่องเสียง ลำโพงหรือหูฟังแต่ละคู่ได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ (แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วยครับ ยิ่งฟังมากก็จะยิ่งชำนาญ)

คราวนี้เรามาพูดถึงเครื่องเสียงกันบ้างครับ ซึ่งหากเราจับ Concept นี้ได้แล้วนั้น ก็เป็นเรื่อง่ายแล้วล่ะครับ ที่เราจะเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ได้ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็น Amp ลำโพง หรือแม้แต่หูฟังก็ตามครับ


เครื่องเสียงทุกประเภท (ทุกประเภทจริง ๆ ครับ) ในอุดมคตินั้น เครื่องเสียงที่ดีต้องให้เสียงที่เหมือนจริงมากที่สุด สามารถตอบสนองความพี่ที่มนุษย์ได้ยินให้ครบทุกย่าน อย่างเท่าเทียมกัน ไม่หนักไปย่านใดย่านหนึ่ง ให้เสมือนจริงอย่างกับว่าเราได้ฟังเสียงเหมือนกับมีวงดนตรีจริง ๆ เล่นอยู่ด้านหน้าของเรา เสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ต้องเหมือนจริง ฟลุท ต้องเป็นฟลุท กลองต้องเป็นกลองจริง ๆ ซึ่งหากทำอย่างนั้นได้ก็นับว่าเป็นเครื่องเสียงที่ดี


"ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องเลือกลำโพง เครื่องเสียงหรือหูฟังให้มีเสียงที่เหมือนจริงอย่างนั้นสิ" ครับ นั่นคืออุดมคติครับ แต่เครื่องเสียงนั้นยิ่งคุณภาพดี ก็ยิ่งมีราคาสูงเป็นเงาตามตัวครับ ทำให้หลาย ๆ คนนั้น ไม่สามารถซื้อเครื่องเสียงที่ให้ความเหมือนจริงมาก ๆ ได้ (แต่ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องเสียงเครื่องใหนให้เสียงได้เหมือนจริงอย่างไม่มีที่ติดสักเครื่อง ทำได้ก็แค่ไกล้เคียง) ทำให้ต้องเลือกเครื่องเสียงที่มีราคาย่อมเยาลงมาซึ่ง เครื่องเสียงเหล่านั้นมักจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่ มีเสียงที่เน้นหนักไปทางย่านความถี่ย่านใดย่านหนึ่ง และประกอบกับ ความชอบของคนเรานั้นต่างกัน บางคนชอบเพลง Jazz ที่เสียงร้องของนักร้องต้องหวาน ๆ หรือบางคนชองเพลง Hip-Hop ซึ่งต้อง Bass เยอะ ๆ เป็นต้น ทำให้การเลือกเครื่องเสียงนั้น ต้องพิจารณามากขึ้นครับ เพราะแต่ละคนนั้นมีความต่างกัน

"แล้วเราจะเลือกอย่างไรล่ะให้ตรงกับ "ใจ" ของเรา" อันนี้ตอบได้ว่าไม่ยากครับ เริ่มแรกเราก็ต้องดูความต้องการและบุคลิกความชอบของเราก่อนล่ะครับ ว่าเป็นเยี่ยงไร เพราะลำโพง หูฟัง หรือ amp แต่ละตัวนั้นเสียงไม่เหมือนกัน ซึ่งในการเลือกนั้นผมก็จะมีแนวในการเลือกดังนี้ครับ เราต้องเลือกว่าจะเอาไปดูหนังหรือฟังเพลงครับ เพราะการดูหนังและฟังเพลงจะค่อนข้างจะมีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน


ซึ่งหนังนั้นเราต้องเน้นให้เสียงนั้นชัด สด เหมือนจริง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องชัดครับ เวลาดูหนังเราจะได้ยินแม้แต่เสียงของหญ้าไหว ใบไม่พัด หรือแม้แต่แมลงครับ หากทำได้อย่างนี้คงไม่ต้องพูดถึงเสียงพูดหรือรายละเอียดต่าง ๆ นะครับ มันจะชัดมาเองครับ เสียงระเบิดต่าง ๆ ต้องกระหึ่มสะใจครับ สรุปคือเราเน้นเหมือนจริง เหมือนไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ เอาให้ดูหนังแล้วมันส์เข้าว่าครับ (หูฟังหรือเครื่องเสียงที่เราเอาไปใช้เล่น Games ก็ใช้หลักการเดียวกันครับ)


แต่หากเราจะเอาไปฟังเพลง คราวนี้รายละเอียดเยอะครับ เพราะเพลงมีตั้งหลายประเภท (แต่หนังเราเอาให้ดูหนัง Action แล้วมันส์ก็ใช้ได้แล้วครับ) แต่แนวทางในการดูนั้นไม่ยากครับ เราก็ดูว่าเพลงในแบบที่เราฟังนั้น เน้นไปทางเสียงใหน เครื่องดนตรีหลัก ๆ ที่ใช้เป็นอะไร เราก็เลือกลำโพงหรือหูฟังครับ ให้ไปในทางเดียวกันเท่านั้นเอง ไม่ยากครับแต่เหนื่อย ต้องขยันเดินฟังหน่อยครับ อย่างเช่นเพลงที่เราฟังเป็นจำพวก Hip-Hop เราก็เน้นให้ Bass เยอะนิดหนึ่ง หรือเราฟังจำพวก Jazz ที่เป็นกลุ่มเพลงร้อง นักร้องเสียงหวาน ๆ เราก็เน้นให้เสียงของหูฟังหรือเครื่อเสียงของเราหวาน ๆ หน่อย เพราะจะเข้ากับ Style ในการฟังของเรา หรือหากบางคนชอบ Acoustic เราก็เน้นที่เสียงสะอาด ๆ แสดงรายละเอียดที่เราต้องการจะได้ยินชัด ๆ


ซึ่งดังที่กล่าวมานี้นั้น หลายคนก็ยังนึกวิธีที่ง่าย ๆ ไม่ออก ผมแนะนำครับ ให้เราหาเพลงไม่ว่าจะเป็น CD หรือเพลงที่อยู่ใน iPod ก็ตาม ที่เราฟังบ่อย ๆ หรือเพลงที่คิดว่าเพลงนี้ล่ะเพลงโปรดเรา เราชอบที่สุด แต่ที่สำคัญครับ เพลงนั้น ๆ ต้องแสดงเอกลักษณ์ของ Style เพลงที่เราฟังได้อย่างครบถ้วน จึงจะใช้ได้ครับ ให้เรานำติดตัวไปด้วย เอาไปลองฟังหูฟัง หรือลำโพงที่เราต้องการจะเลือกครับ ให้ลองในสภาพที่ไกล้เคียงกับที่เราใช้งานที่สุดครับ จะได้ทราบว่าเจ้าหูฟังหรือ ลำโพงที่เราลองนั้นตรงกับใจเราหรือเปล่า ชอบมากน้อยแค่ใหน คุ้มมั๊ยที่จะเสียเงินซื้อมาใช้งาน

อันนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ครับ แต่ได้ผลมากเลย เพราะไม่มีอะไรดีกว่า การได้ไปลองของจริง ในสภาพที่เราต้องการใช้งาาน หรือฟังเพลงที่เราชอบฟังจริง ๆ ครับ ผมไม่แนะนำให้เชื่อคำบอกเล่าของใครมากนักนะครับ จริงอยู่ที่คำบอกเล่าช่วยเราได้ในเรื่องของการตัดสินใจ แต่ต่างคนก็ต่างความรู้สึก เค้าชอบเราอาจจะไม่ชอบก็ได้ หรือของแย่ของเค้า เราอาจจะชอบมากก็ได้ใครจะรู้ เพราะฉะนั้น ต้องลองครับ ต้องลอง

คราวต่อไปผมจะพูดถึงเรื่องการลองหูฟังและการเลือกใช้งานครับ แต่จะไม่พูดถึงการฟังแล้วครับ เพราะคิดว่าหากคนที่อ่านบทความนี้ไปคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายแล้วครับ แต่จะพูดถึงวิธีการเตียมตัว และความเหมาะสมของการใช้งานมากกว่าครับ และที่สำคัญขอให้ขติข้อคิดไว้ครับ

"หูเรา หูฟังเรา(ลำโพง) และเงินเรา เราเลือกเอง"

วันนี้คงลากันไปเท่านี้ก่อนครับ สวัสดีครับ

PIKMY

1 comment:

Anonymous said...

วิชาการมากกกกกกกก็เป็น